ไม่มีใครเกิดมาโง่ รูปแบบทฤษฎีพหุปัญญา Multiple Intelligences Theory
ทฤษฎีพหุปัญญา Multiple Intelligences Theory หนึ่งในทฤษฎีของ Howard Gardner นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กับแนวคิดที่ว่า ‘ไม่มีใครเกิดมาโง่’ โดยเน้นย้ำพูดถึงความหลากหลายของปัญญามนุษย์ ที่ไม่ควรจะถูกตัดสินผ่านบททดสอบแบบเดียวกัน เด็กเรียนไม่เก่งไม่ได้แปลว่าโง่ แต่อาจจะไม่ตอบโจทย์รูปแบบการศึกษาที่มีอยู่แค่นั้นเอง
เด็กที่ไม่เก่งคณิตศาสตร์ อาจจะมีความสามารถในการใช้ภาษาดี
เด็กที่ไม่เก่งทั้งคณิตศาสตร์ และภาษา อาจเป็นเลิศทางศิลปะ
เด็กที่ไอคิวปกติ อาจเป็นอัจฉริยะทางกีฬา
เด็กที่ไอคิวต่ำ อาจเป็นอัจฉริยะทางดนตรี
เด็กที่ไอคิวสูง ก็อาจไม่มีเรื่องใดโดดเด่นเลย
เด็กที่ไม่เก่งทั้งคณิตศาสตร์ ภาษา ดนตรี กีฬา และศิลปะ
ก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข มีเพื่อนฝูงมากมายเช่นกัน
การจะบอกว่าเด็กคนหนึ่งฉลาด หรือมีความสามารถมากน้อยเพียงใด ถ้าเรานำระดับสติปัญญาหรือไอคิว ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมาเป็นมาตรวัด ก็อาจได้ผลเพียงเสี้ยวเดียว เพราะว่าวัดได้เพียงเรื่องของภาษา ตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์ และมิติสัมพันธ์เพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีความสามารถอีกหลายด้านที่แบบทดสอบในปัจจุบันไม่สามารถวัดได้ครอบคลุมถึง เช่น เรื่องของความสามารถทางดนตรี ความสามารถทางกีฬา และความสามารถทางศิลปะ เป็นต้น
ศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เป็นผู้หนึ่งที่พยายามอธิบายให้เห็นถึงความสามารถที่หลากหลาย โดยคิดเป็น “ทฤษฎีพหุปัญญา” (Theory of Multiple Intelligences) เสนอแนวคิดว่า สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้านที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดดเด่นในด้านไหนบ้าง แล้วแต่ละด้านผสมผสานกัน แสดงออกมาเป็นความสามารถในเรื่องใด เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคนไป
ในปี พ.ศ. 2526 การ์ดเนอร์ ได้เสนอว่าปัญญาของมนุษย์มีอยู่อย่างน้อย 7 ด้าน คือ ด้านภาษา ด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ ด้านมิติสัมพันธ์ ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ด้านดนตรี ด้านมนุษยสัมพันธ์ และด้านการเข้าใจตนเอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ได้เพิ่มเติมเข้ามาอีก 1 ด้าน คือ ด้านธรรมชาติวิทยา และในปี พ.ศ. 2561 ได้เพิ่มเติมด้านล่าสุด คือ ด้านการดำรงชีวิต เพื่อให้สามารถอธิบายได้ครอบคลุมมากขึ้น จึงสรุปได้ว่า พหุปัญญา ตามแนวคิดของการ์ดเนอร์ ในปัจจุบันมีปัญญาอยู่อย่างน้อย 9 ด้าน ดังนี้
1. ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)
คือ ความสามารถในการใช้ภาษารูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ภาษาพื้นเมือง จนถึงภาษาอื่น ๆ ด้วย สามารถรับรู้ เข้าใจภาษา และสามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตามที่ต้องการ สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็น กวี นักเขียน นักพูด นักหนังสือพิมพ์ ครู ทนายความ หรือนักการเมือง
2. ปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence)
คือ ความสามารถในการคิดแบบมีเหตุและผล การคิดเชิงนามธรรม การคิดคาดการณ์ และการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็น นักบัญชี นักสถิติ นักคณิตศาสตร์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเขียนโปรแกรม หรือวิศวกร
3. ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Visual-Spatial Intelligence)
คือ ความสามารถในการรับรู้ทางสายตาได้ดี สามารถมองเห็นพื้นที่ รูปทรง ระยะทาง และตำแหน่ง อย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แล้วถ่ายทอดแสดงออกอย่างกลมกลืน มีความไวต่อการรับรู้ในเรื่องทิศทาง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น จะมีทั้งสายวิทย์ และสายศิลป์ สายวิทย์ มักจะเป็น นักประดิษฐ์ วิศวกร ส่วนสายศิลป์ มักจะเป็นศิลปินในแขนงต่าง ๆ เช่น จิตรกร วาดรูป ระบายสี เขียนการ์ตูน นักปั้น นักออกแบบ ช่างภาพ หรือสถาปนิก
4. ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily-Kinesthetic Intelligence)
คือ ความสามารถในการควบคุมและแสดงออกซึ่งความคิด ความรู้สึก โดยใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงความสามารถในการใช้มือประดิษฐ์ ความคล่องแคล่ว ความแข็งแรง ความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น ความประณีต และความไวทางประสาทสัมผัส สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็น นักกีฬา หรือไม่ก็ศิลปินในแขนง นักแสดง นักฟ้อน นักเต้น นักเต้นบัลเลย์ หรือนักแสดงกายกรรม
5. ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence)
คือ ความสามารถในการซึมซับ และเข้าถึงสุนทรียะทางดนตรี ทั้งการได้ยิน การรับรู้ การจดจำ และการแต่งเพลง สามารถจดจำจังหวะ ทำนอง และโครงสร้างทางดนตรีได้ดี และถ่ายทอดออกมาโดยการฮัมเพลง เคาะจังหวะ เล่นดนตรี และร้องเพลง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็น นักดนตรี นักประพันธ์เพลง หรือนักร้อง
6. ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)
คือ ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ทั้งด้านความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และเจตนาที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน มีความไวในการสังเกต สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง สามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม สร้างมิตรภาพได้ง่าย เจรจาต่อรอง ลดความขัดแย้ง สามารถจูงใจผู้อื่นได้ดี เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคน สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็น ครูบาอาจารย์ นักการทูต เซลล์แมน พนักงานขายตรง พนักงานต้อนรับ ประชาสัมพันธ์ นักการเมือง หรือนักธุรกิจ
7. ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)
คือ ความสามารถในการรู้จัก ตระหนักรู้ในตนเอง สามารถเท่าทันตนเอง ควบคุมการแสดงออกอย่างเหมาะสมตามกาลเทศะ และสถานการณ์ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรเผชิญหน้า เมื่อไหร่ควรหลีกเลี่ยง เมื่อไหร่ต้องขอความช่วยเหลือ มองภาพตนเองตามความเป็นจริง รู้ถึงจุดอ่อน หรือข้อบกพร่องของตนเอง ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าตนมีจุดแข็ง หรือความสามารถในเรื่องใด มีความรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความคาดหวัง ความปรารถนา และตัวตนของตนเองอย่างแท้จริง เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีความสุข สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็น นักคิด นักปรัชญา หรือนักวิจัย
8. ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence)
คือ ความสามารถในการรู้จัก และเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เข้าใจกฎเกณฑ์ ปรากฏการณ์ และการรังสรรค์ต่าง ๆ ของธรรมชาติ มีความไวในการสังเกต เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปของธรรมชาติ มีความสามารถในการจัดจำแนก แยกแยะประเภทของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็น นักธรณีวิทยา นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ หรือนักสำรวจธรรมชาติ
9. ปัญญาด้านการดำรงชีวิต (Existential Intelligence)
คือ ความสามารถในการไตร่ตรอง คิดคำนึง ความเข้าใจเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ เหตุผลของการดำรงอยู่ เข้าใจการวางแผนชีวิต เข้าใจว่าการกระทำในปัจจุบันส่งผลต่ออนาคตอย่างไร สามารถคาดการณ์ถึงผลในระยะยาว เข้าใจสถานการณ์จากมุมมองภายนอก สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็น นักปรัชญา นักคิดทฤษฎี ผู้ให้การปรึกษา บาทหลวงหรือนักบวช
ทฤษฎีนี้ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นความสำคัญใน 3 เรื่องหลัก ดังนี้
1. แต่ละคน ควรได้รับการส่งเสริมให้ใช้ปัญญาด้านที่ถนัด เป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้
2. ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ควรมีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้สอดรับกับปัญญาที่มีอยู่หลายด้าน
3. ในการประเมินการเรียนรู้ ควรวัดจากเครื่องมือที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถครอบคลุมปัญญาในแต่ละด้าน
ทฤษฎีพหุปัญญา ของการ์ดเนอร์ ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายทางปัญญาของมนุษย์ ซึ่งมีหลายด้าน หลายมุม แต่ละด้านก็มีความอิสระในการพัฒนาตัวของมันเองให้เจริญงอกงาม ในขณะเดียวกันก็มีการบูรณาการเข้าด้วยกัน เติมเต็มซึ่งกันและกัน แสดงออกเป็นเอกลักษณ์ทางปัญญาของมนุษย์แต่ละคน
คนหนึ่งอาจเก่งเพียงด้านเดียว หรือเก่งหลายด้าน หรืออาจไม่เก่งเลยสักด้าน แต่ที่ชัดเจน คือ แต่ละคนมักมีปัญญาด้านใดด้านหนึ่งโดดเด่นกว่าเสมอ ไม่มีใครที่มีปัญญาทุกด้านเท่ากันหมด หรือไม่มีเลยสักด้านเดียว
นับเป็นทฤษฎีที่ช่วยจุดประกายความหวัง เปิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการศึกษาด้านสติปัญญาของมนุษย์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งในกลุ่มเด็กปกติ เด็กที่มีความบกพร่อง และเด็กที่มีความสามารถพิเศษ
หลายครั้งตัวเลขอย่างเกรด ก็ไม่สามารถวัดความถนัดบางประเภทของมนุษย์ได้ และในความความถนัดเหล่านี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีความถนัดของมนุษย์อีกมากที่ไม่ได้ถูกระบุเอาไว้ในนี้
- เก่งภาษา
ถนัดการใช้ภาษา การพูด การฟัง การเขียน เข้าใจ เรียนรู้ได้ดี ตั้งแต่ภาษาบ้านเกิด ภาษาที่เพิ่งเรียนรู้ใหม่ และสามารถรังสรรค์การใช้ภาษาได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะผ่านทางการเขียน หรือพูดก็ตาม
อาชีพ: นักเขียน นักข่าว กวี ทูต นักพูด ทนาย นักการเมือง
- เก่งตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์
ถนัดการคิดแบบมีเหตุมีผล การคิดแบบตัวเลข การคิดเชิงคณิตศาสตร์ คาดการณ์สิ่งต่างๆ ล่วงหน้าผ่านสถิติที่มีเหตุผลรองรับ
อาชีพ: งานเกี่ยวกับการคำนวณตัวเลข วิศวกร นักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย บัญชี
- เก่งมิติสัมพันธ์
ถนัดการซึมซับข้อมูลผ่านการมอง สามารถสร้างภาพหรือรูปทรงต่างๆ ในจินตนาการได้ดี และต่อยอดมาสร้างเป็นผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม
อาชีพ: จิตรกร สถาปนิก ศิลปิน นักวาด ดีไซเนอร์ ตากล้อง
- เก่งร่างกายและการเคลื่อนไหว
ใช้งานและควบคุมร่างกายได้ดี มีความคล่องแคล่ว แข็งแรง ใช้ร่างกายในการแสดงออกได้อย่างสร้างสรรค์และทรงพลัง
อาชีพ: นักกีฬา นักแสดง นักเต้นสาขาต่างๆ นักกายกรรม อาชีพที่ต้องถ่ายทอดอารมณ์ผ่านร่างกาย
- เก่งดนตรี
มีความเชี่ยวชาญในการเข้าถึงสุนทรียศาสตร์ เข้าถึงจังหวะ พร้อมมีความคิดสร้างสรรค์ในเชิงดนตรี นำเสนอออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมและสร้างสรรค์
อาชีพ: สายงานด้านดนตรี ศิลปิน นักดนตรี นักร้อง โปรดิวเซอร์เพลง นักแต่งเพลง
- เก่งมนุษยสัมพันธ์
มีความสามารถในรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกได้ดี เข้าอกเข้าใจคนอื่น มีความสามารถในการตอบสนองอารมณ์และเข้าหาได้อย่างเหมาะสม ทำให้สามารถเข้าใจและจูงใจคนอื่นได้อย่างยอดเยี่ยม
อาชีพ: AE ทูต พนักงานขาย นักการเมือง ครู ศาสนา
- เก่งการเข้าใจตนเอง
ชอบตั้งคำถามกับชีวิต วิเคราะห์ความรู้สึกอยู่เสมอ ตระหนักรู้ในตนเอง ควบคุมอารมณ์ และเข้าใจที่มาของอารมณ์ได้ดี เข้าใจความเป็นจริงของตัวเอง รู้ว่าตัวเองเหมาะกับอะไร ไม่เหมาะกับอะไร
อาชีพ: นักเขียน นักพูด นักคิด จิตแพทย์ นักปรัชญา
- เก่งธรรมชาติวิทยา
ชอบตั้งคำถามกับธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติ กระบวนการเติบโต การเปลี่ยนผ่าน มีความช่างสังเกตเป็นเลิศ ใส่ใจความเป็นอยู่ของพืช และเข้าใจการมีตัวตนของสัตว์แต่ละประเภท ศรัทธาในธรรมชาติและความเป็นไปของมัน
อาชีพ: คนทำงานด้านป่าไม้ นักสำรวจ นักวิจัย นักโบราณคดี
ความถนัดของมนุษย์ไม่ได้มีแค่นี้ และที่สำคัญอาชีพที่เรานำมาเสนอเป็นเพียงตัวอย่างพื้นฐานเท่านั้น เพราะแต่ละบุคคลก็มีปัญญาและความถนัดมากกว่า 1 ด้านอยู่แล้ว แต่ไม่ว่าคุณจะถนัดอะไร ลองเคารพตัวตน เคารพความถนัด เคารพธรรมชาติ อาจจะทำให้คุณเข้าใจตัวตนคุณได้มากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (มีนาคม 2549). พหุปัญญา อัจฉริยภาพหลากหลายมิติที่น่าค้นหา. UPDATE. 21(222): 63-64.
อารี สัณหฉวี และอุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์. (15 สิงหาคม 2548). พหุปัญญา. จาก http://www.thaigifted.org
Armstrong, T. (2022). Multiple intelligences. from https://www.institute4learning.com/ resources/articles/multiple-intelligences/
Cherry, K. (2022). Gardner’s theory of multiple intelligences. from https://www.verywellmind.com/gardners-theory-of-multiple-intelligences-2795161
Gardner, H. (2005). Multiple intelligences. from http://tip.psychology.org/gardner.html
Gardner, H. (2011). Frames of mind: the theory of multiple intelligences, 10th ed. New York: Basic Books
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). ทฤษฎีพหุปัญญา. จาก https://www.happyhomeclinic.com/a01-multiple-intelligence.html
-
การแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 72 ปีการศึกษา 2567
การแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 72 ปีการศึกษ…
-
ไฟล์รวมกลยุทธ์ครูเพื่อการเรียนรู้สู่อ่านออกเขียนได้ 2560-2567
ไฟล์รวมกลยุทธ์ครูเพื่อการเรียนรู้สู่อ่านออกเขียนได้ 256…
-
คู่มือต่อใบประกอบวิชาชีพครูออนไลน์ 2567 ชั้นตอนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (KSP Self-Service)
คู่มือต่อใบประกอบวิชาชีพครูออนไลน์ 2567 ชั้นตอนการยื่นค…
-
Google Form: ตัวช่วยครูยุคใหม่ สร้างข้อสอบออนไลน์แจกคะแนนอัตโนมัติ
Google Form: ตัวช่วยครูยุคใหม่ สร้างข้อสอบออนไลน์แจกคะแ…
-
รู้จักทฤษฎีหมวก 6 ใบเคล็ดลับคิดนอกกรอบ สร้างความแตกต่าง เตรียมสอบครูผู้ช่วย
รู้จักทฤษฎีหมวก 6 ใบเคล็ดลับคิดนอกกรอบ สร้างความแตกต่าง…
สนับสนุนเพจโดยการซื้อสินค้า Shopee ลุ้นเข้า VIP ฟรี
เว็บไซต์ของเราเป็นผู้ช่วยกระจายข่าว
มิใช่ผู้จัดอบรมแต่อย่างใด
ติดตามเพจ FACEBOOK : ครูตอเต่า
ท่านสามารถติดต่อเข้าร่วมกลุ่ม ข่าวสาร เพื่อติดตามผลงานและสื่อต่าง ๆ ได้ที่ >>
https://www.facebook.com/groups/298149415474258
ไลน์อบรมครู โปรดแตะลิงก์ด้านล่างเพื่อเข้าร่วมโอเพนแชทนี้
เกี่ยวกับเรา
ครูตอเต่า และ krutortao.com ครูตอเต่าแบ่งปัน สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ แจกฟรี สื่อการสอน แนะนำ สื่อการสอนฟรี สำหรับครู ดาวน์โหลดไฟล์ ใบงาน ใบความรู้ สื่อออนไลน์ แบบฝึกหัด ข้อสอบ ทุกรายวิชา ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ไฟล์เอกสารฟรี ไฟล์หน้าปกฟรี บทความ เอกสารทางการศึกษา ไฟล์เอกสารประเมินวิทยฐานะ รายงานการรอบรมนับชั่วโมง เกียรติบัตร เพื่อให้ครูนำไปใช้เป็นในการจัดการเรียนการสอน ให้กับนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ติดตามข่าวการศึกษา ข่าวทั่วไป อัพเดททันต่อเหตุการณ์ สอบครูผู้ช่วย แนวข้อสอบบรรจุครูผู้ช่วย รวมทั้งหมดไว้ที่นี่ krutortao.com เว็บไซต์เพื่อการศึกษา และยังสามารถติดตามได้ทางแฟนเพจ ครูตอเต่า อีกช่องทาง เพื่อพัฒนาการศึกษาไทย โดยไม่แสวงหาผลกำไรแต่อย่างใด
Krutortao ครูตอเต่า เป็นเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ และแบ่งปัน ผลงานนครู สื่อการสอน หลักสูตรการ รับเกียรติบัตรออนไลน์ แบ่งปันความรู้ เพื่อนำไปพัฒนาตนเอง และพัฒนาวิชาชีพครู โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่มีการเรียกเก็บเงินใดๆ