จรรยาบรรณวิชาชีพครู และมาตรฐานวิชาชีพครู

By admin 2 Min Read

จรรจรรยาบรรณวิชาชีพครู และมาตรฐานวิชาชีพครู เรียบเรียงโดย ครูตอเต่า

Code of Ethics of Teaching Profession

จรรยาบรรณวิชาชีพครู


ความหมาย

จรรยาบรรณในวิชาชีพ หมายถึงประมวลมาตรฐานความประพฤติที่ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องประพฤติปฏิบัติ เป็นแนวทางให้ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติอย่างถูกต้องเพื่อผดุงเกียรติและสถานะ ของวิชาชีพนั้นก็ได้ผู้กระทำผิดจรรยาบรรณ จะต้องได้รับโทษโดยว่ากล่าว ตักเตือน ถูกพักงาน หรือถูกยกเลิกใบประกอบวิชาชีพได้

ความสำคัญ

จรรยาบรรณในวิชาจะเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะจำแนกอาชีพว่าเป็นวิชาชีพหรือไม่ อาชีพที่เป็น “วิชาชีพ” นั้นกำหนดให้มีองค์กรรองรับ และมีการกำหนดมาตรฐานของความประพฤติของผู้อยู่ในวงการวิชาชีพซึ่งเรียกว่า “จรรยาบรรณ“ ส่วนลักษณะ “วิชาชีพ ” ที่ สำคัญคือ เป็นอาชีพที่มีศาสตร์ชั้นสูงรองรับ มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาวิชาชีพมีการจัดการสอนศาสตร์ดังกล่าวในระดับ อุดมศึกษาทั้งการสอนด้วยทฤษฏีและการปฏิบัติจนผู้เรียนเกิดความชำนาญ และมีประสบการณ์ในศาสตร์นั้น นอกจากนี้จะต้องมีองค์กรหรือสมาคมวิชาชีพ ตลอดจนมี “จรรยาบรรณในวิชาชีพ” เพื่อ ให้สมาชิกในวิชาชีพดำเนินชีวิตตามหลักมาตรฐานดังกล่าวหลักที่กำหนดใน จรรยาบรรณวิชาชีพทั่วไป คือ แนวความประพฤติปฏิบัติที่มีต่อวิชาชีพต่อผู้เรียน ต่อตนเอง และต่อสังคม

จรรยาบรรณวิชาชีพครู มีความสำคัญต่อวิชาชีพครูเช่นเดียวกับที่จรรยาบรรณวิชาชีพ มีความสำคัญต่อวิชาชีพอื่น ๆ ซึ่งสรุปได้ 3 ประการ คือ

  1. ปกป้องการปฏิบัติงานของสมาชิกในวิชาชีพ
  2. รักษามาตรฐานวิชาชีพ
  3. พัฒนาวิชาชีพ

ลักษณะของจรรยาบรรณวิชาชีพครู

  1. เป็นคำมั่นสัญญาหรือพันธะผูกพันต่อผู้เรียน (Commitment to the student)
  2. เป็นคำมั่นสัญญาหรือพันธะผูกพันต่อสังคม (Commitment to the society)
  3. เป็นคำมั่นสัญญาหรือพันธะผูกพันต่อวิชาชีพ (Commitment to the profession)
  4. เป็นคำมั่นสัญญาหรือพันธะผูกพันต่อสถานปฏิบัติงาน (Commitment to the employment practice)

จรรยาบรรณครู 2546 (จรรยาบรรณของ วิชาชีพ มี 5 กลุ่ม 9 ประการ) ดังนี้

จรรยาบรรณต่อตนเอง

1. ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องมีวินัยในตนเอง พัฒนาตนเองด้านวิชาชีพ บุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ

จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ

2. ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องรัก ศรัทธา ซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อวิชาชีพ และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพ

จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ

3. ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องรัก เมตตา เอาใจใส่ ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้กำลังใจแก่ศิษย์ และผู้รับบริการ ตามบทบาทหน้าที่โดยเสมอหน้า

4. ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ทักษะ และนิสัยที่ถูกต้องดีงามแก่ศิษย์  และผู้รับบริการ  ตามบทบาทหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

5. ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ

6. ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์ และผู้รับบริการ

7. ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องให้บริการด้วยความจริงใจและ  เสมอภาค      โดยไม่เรียกรับหรือยอมรับผลประโยชน์จากการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ

จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ

8. ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา พึงช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ โดยยึดมั่นในระบบคุณธรรม สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ

จรรยาบรรณต่อสังคม

9. ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา พึงประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม รักษาผลประโยชน์ของ ส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มาตรฐานวิชาชีพครู

มาตรฐานวิชาชีพครูความหมายของมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษามาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา  

คือ  ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ และคุณภาพ ที่พึงประสงค์ในการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา    ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องประพฤติปฏิบัติตาม  เพื่อให้เกิดคุณภาพในการประกอบวิชาชีพ  สามารถสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้แก่ผู้รับบริการจากวิชาชีพได้ว่าเป็นบริการที่มีคุณภาพ  ตอบสังคมได้ว่าการที่กฎหมายให้ความสำคัญกับวิชาชีพทางการศึกษา    และกำหนดให้เป็นวิชาชีพควบคุม  นั้น เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่มีลักษณะเฉพาะ ต้องใช้ความรู้   ทักษะ  และความเชี่ยวชาญในการประกอบวิชาชีพ     ตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา  พ.ศ. 2546  มาตรา  49 

กำหนดให้มีมาตรฐานวิชาชีพ 3 ด้าน ประกอบด้วย          

1. มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ  หมายถึง  ข้อกำหนดสำหรับผู้ที่จะ เข้ามาประกอบวิชาชีพ  จะต้องมีความรู้และมีประสบการณ์วิชาชีพเพียงพอที่จะประกอบวิชาชีพ  จึงจะสามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้  ความสามารถ  และมีประสบการณ์พร้อมที่จะประกอบวิชาชีพทางการศึกษาได้          
2. มาตรฐานการปฏิบัติงาน หมายถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในวิชาชีพ ให้เกิดผลเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด  พร้อมกับมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้เกิดความชำนาญในการประกอบวิชาชีพ    ทั้งความชำนาญเฉพาะด้านและความชำนาญตามระดับคุณภาพของมาตรฐานการปฏิบัติงาน  หรืออย่างน้อยจะต้องมีการพัฒนาตามเกณฑ์ที่กำหนดว่ามีความรู้  ความสามารถ  และความชำนาญ    เพียงพอที่จะดำรงสถานภาพของการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพต่อไปได้หรือไม่    นั่นก็คือการกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องต่อใบอนุญาตทุกๆ 5 ปี          
3.  มาตรฐานการปฏิบัติตน   หมายถึง   ข้อกำหนดเกี่ยวกับการประพฤติตนของ ผู้ประกอบวิชาชีพ  โดยมีจรรยาบรรณของวิชาชีพเป็นแนวทางและข้อพึงระวังในการประพฤติปฏิบัติ  เพื่อดำรงไว้ซึ่งชื่อเสียง  ฐานะ  เกียรติ  และศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ  ตามแบบแผนพฤติกรรม ตามจรรยาบรรณของวิชาชีพที่คุรุสภาจะกำหนดเป็นข้อบังคับต่อไป     
หากผู้ประกอบวิชาชีพผู้ใดประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นจนได้รับการร้องเรียนถึงคุรุสภาแล้ว  ผู้นั้นอาจถูกคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพวินิจฉัย  ชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้                    
(1)    ยกข้อกล่าวหา                     
(2)    ตักเตือน                      
(3)    ภาคทัณฑ์                       
(4)   พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร    แต่ไม่เกิน    5    ปี                   
(5)   เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (มาตรา 54)           
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องสำรวจความคิดเห็น  จัดประชุมสัมมนา  ประชุมเชิงปฏิบัติการ  ประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง  ทั้งด้านการผลิต การพัฒนา  และการประกอบวิชาชีพ  รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ    เพื่อนำมากำหนดเป็นสาระสำคัญของมาตรฐานวิชาชีพ    ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการคุรุสภาในคราวประชุมครั้งที่  5/2548   วันที่    21  มีนาคม 2548 และที่ประชุมคณะกรรม การคุรุสภาครั้งที่ 6/2548  วันที่  18  เมษายน  2548  ได้อนุมัติให้ออกข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว   มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญของผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งจะต้องประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลดีต่อผู้รับบริการ อันถือเป็นเป้าหมายหลักของการประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้สามารถนำไปใช้ในการประกอบวิชาชีพให้สมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูงและได้รับการยอมรับยกย่องจากสังคม          มาตรฐานวิชาชีพครู          มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ          มาตรฐานความรู้          มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษาหรือเทียบเท่า หรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภา รับรอง โดยมีความรู้ ดังต่อไปนี้          
1.  ภาษาและเทคโนโลยีสำหรับครู          
2.  การพัฒนาหลักสูตร          
3.  การจัดการเรียนรู้          
4.  จิตวิทยาสำหรับครู          
5.  การวัดและประเมินผลการศึกษา          
6.  การบริหารจัดการในห้องเรียน            
7.  การวิจัยทางการศึกษา          
8.  นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา          
9.  ความเป็นครู

ขอบคุณที่มา https://www.kroobannok.com/88939


นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่าตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันตามสื่อต่างๆในเรื่องที่จะมีการยกเลิกความสำคัญที่เคยบัญญัติไว้ใน มาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ว่า “วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง” โดยนักวิชาการบางท่าน เห็นว่า “ถ้าเราระบุไว้ใน พ.ร.บ.ว่าครูเป็นอาชีพชั้นสูงแล้ว “ต่อไปครูเดินไปไหนมาไหนคนที่เห็นต้องไหว้หรือเปล่า” “หรือคนที่มีอาชีพชั้นสูงจะได้นั่งแถวหน้าเวลาไปดูคอนเสิร์ต” “จะมีอาชีพชั้นสูงไปเพื่ออะไร” “อาชีพวิศวะน่าจะเป็นอาชีพชั้นสูงกว่าไหม เพราะทำงานตึกสูงตั้ง 40-50 ชั้น” ฯลฯ นั้น
กรณีนี้ตนขอเรียนและสื่อสารไปถึงบรรดานักวิชาการต่างๆดังกล่าวว่าท่านคงไม่เข้าใจที่มาที่ไปของคำว่าอาชีพชั้นสูงเนื่องจากท่านได้พูดถึงเรื่องคนที่มีอาชีพชั้นสูงจะได้นั่งแถวหน้าเวลาไปดูคอนเสิร์ต หรือ อาชีพวิศวะน่าจะเป็นอาชีพชั้นสูงกว่าไหม เพราะทำงานตึกสูงตั้ง 40-50 ชั้น เป็นต้นและตนเชื่อโดยสนิทใจว่าท่านผู้นั้นไม่เคยประกอบวิชาชีพครู ไม่เคยไปสัมผัสครูที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ไม่เข้าใจวิชาชีพครูที่แท้จริงว่าวิชาชีพครูนั้นต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง ขอเรียนว่าผู้ที่ศึกษาวิชาชีพครูนั้นจะต้องถูกฝึกทั้งทางวิชาการและจิตวิญญาณให้เตรียมรับมือกับภารกิจในการพัฒนานักเรียนทั้งในเรื่องความฉลาดรู้ ความประพฤติ ความมีคุณธรรม และการแก้ปัญหาต่างๆของนักเรียนเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม โดยต้องถูกปลูกฝังในเรื่องต่างๆเหล่านี้มากกว่า 4-5 ปี
ในสถาบันการผลิตครู จะถูกปลูกฝังให้มีจิตสำนึกที่จะใส่ใจนักเรียนในฐานะพ่อแม่คนที่สองของนักเรียน เกี่ยวกับเรื่องการเป็นวิชาชีพชั้นสูงนั้น ขอเสนอแนะให้ผู้วิจารณ์หาความรู้เพิ่มเติมได้จากงานวิจัยของ สุนทร มูสิกรังสี เรื่อง การศึกษาพฤติกรรมของครูตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู ซี่งงานวิจัยดังกล่าวนั้นได้มีการกล่าวถึงวิชาชีพชั้นสูงตามแนวคิดของนักการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศไทย ดังนี้
1. เป็นวิชาชีพที่ให้บริการแก่สังคม
2. เป็นวิชาชีพที่จะต้องได้เรียนรู้เป็นระยะเวลานานและวิชาต่างๆจะต้องมีหลักการและทฤษฎีที่เชื่อถือได้ซึ่งจะต้องเกิดจากการวิจัย
3. เป็นวิชาชีพที่มีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณเป็นขอบเขตแห่งความประพฤติ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบอาชีพและป้องกันอันตรายอันอาจจะเกิดขึ้นกับผู้รับบริการหรือสังคม ในกรณีที่ผู้ประกอบอาชีพเลินเล่อขณะทำการประกอบอาชีพและเป็นแนวปฏิบัติหรือข้อบังคับให้มีการพัฒนาตนเองตลอดเวลา
4. เป็นวิชาชีพที่ใช้ปัญญาอย่างมากในการประกอบอาชีพ จะต้องใช้ความรู้ความสามารถและความรับผิดชอบอย่างสูงต่อวิชาชีพและต่อผู้บริการตลอดเวลา
5. เป็นวิชาชีพที่มีที่มีความอิสระในการประกอบอาชีพ มีอำนาจในการตัดสินใจดำเนินการตามสาระสำคัญแห่งวิชาชีพ ทั้งทางด้านเทคนิควิธีและกระบวนการให้สอดคล้องกันและเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับบริการหรือสังคมได้โดยไม่มีข้อจำกัด
6. เป็นวิชาชีพที่มีฐานะทางสังคมอยู่ในระดับสูง ได้รับค่าตอบแทนในอัตราสูงและมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ
7. เป็นวิชาชีพที่มีสถาบันของตนเองเพื่อควบคุม ส่งเสริม พัฒนา สร้างสรรค์สาระแห่งวิชาชีพ ตลอดจนเกียรติศักดิ์ศรีของวิชาชีพและบุคคลในวิชาชีพ
วิชาชีพครูในฐานะเป็นวิชาชีพชั้นสูงเพราะ
1. วิชาชีพครูมีบริการที่ให้แก่สังคมที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงและจำเป็นที่สังคมจำต้องมีบริการดังกล่าว
2. วิชาชีพครูต้องใช้วิธีการแห่งปัญญาอย่างยิ่งเพราะการสอนเป็นเรื่องของการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ค่านิยมไปสู่เยาวชน
3. ผู้ที่เป็นครูจำต้องได้รับการศึกษาอบรมให้เป็นผู้ที่มีความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอนอย่างลึกซึ้ง มีความรู้กว้างที่จะเข้าใจตนเอง ผู้อื่นและสังคม สิ่งแวดล้อม รู้หลักการและวิธีการสอนรวมทั้งสามารถประยุกต์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติวิชาชีพได้เป็นอย่างดี มีประสิทธิภาพ ระยะเวลาที่ศึกษาเพื่อเตรียมตัวเป็นครูจึงต้องยาวนานพอสมควร อย่างน้อยตบจบปริญญาตรี
4. ครูมีบทบาทสำคัญในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน มีอิสระและเสรีภาพทางวิชาการในการให้บริการตามมาตรฐานของวิชาชีพ
5. วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่มุ่งบริการแก่ผู้อื่นมากกว่าการหาประโยชน์จากผู้รับบริการจึงต้องเป็นวิชาชีพที่มีจรรยาบรรณ
6. วิชาชีพครูมีคุรุสภาเป็นสถาบันวิชาชีพที่เป็นแหล่งกลางในการควบคุมมาตรฐานและส่งเสริมความก้าวหน้าของวิชาชีพ แนวคิดในเรื่องวิชาชีพชั้นสูงและแนวคิดเรื่องวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง นั้นเป็นแนวคิดที่ได้มาจาก ดร.ก่อ สวัสดิพานิชย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อาจารย์จันทร์ ชุ่มเมืองปักษ์ อาจารย์ยนต์ ชุ่มจิต ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นนักการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ ที่สำคัญคือวิชาชีพใดก็ตามที่มีองค์ประกอบครบตามข้อค้นพบของงานวิจัยเรื่องนี้ก็สามารถยอมรับได้ว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูง “คุณภาพของครูในปัจจุบันนั้นเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่าขาดจิตวิญญาณของความเป็นครู โดยเป็นที่น่าเสียดายว่าเรื่องนี้มีต้นเหตุมาจากคุรุสภาที่บริหารโดยบุคคลที่ไม่เคยเป็นครู ไม่มีจิตวิญญาณครู ได้กำหนดระเบียบอนุญาตให้บุคคลที่ไม่ได้ผ่านการศึกษาอบรมเพื่อที่จะเป็นครู ไม่เคยถูกปลูกฝังทางจิตวิญญาณด้านวิชาชีพครู มาประกอบวิชาชีพครู จึงล้มเหลวในการพัฒนาผู้เรียน จึงขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจขอได้โปรดพิจารณาให้รอบคอบในเรื่องการวางตัวบุคคลที่จะมาบริหารภารกิจของครูในทุกองค์กรโดยควรเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบห้าปี มิฉะนั้นก็จะคิดและเสนอแนะอะไรต่างๆนานาตามอำเภอใจของตนเอง ขาดการตัดสินใจภายใต้ข้อมูลที่มีจนทำให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงทางด้านการศึกษาของเยาวชน นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าบุคคลที่ไม่ยอมรับให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงนั้นล้วนแล้วแต่ไม่เคยเป็นครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานแม้แต่รายเดียว” นายรัชชัยย์ ฯกล่าวในที่สุด
ขอบคุณที่มา https://www.kroobannok.com/88939

Share This Article
Exit mobile version